จัดสังฆทานอย่างไรให้ได้ประโยชน์...
สังฆทาน คือ ทานที่ตั้งใจถวายแก่สงฆ์หรือผู้แทนของสงฆ์ ไม่จำเพาะเจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง หากถวายโดยเจาะจง เรียกว่า บุคลิกทาน ดังนั้น สังฆทานมีอานิสงส์มากกว่าบุคลิกทาน เพราะผู้ถวายมีจิตใจที่กว้างขวาง ไม่เจาะจงว่าจะเป็นภิกษุรูปใด เป็นการแสดงถึงความตั้งใจจะถวายด้วยศรัทธาอันเป็นสาธารณะ
ดังนั้น การทำบุญเลี้ยงพระในงานต่างๆ การไปทำบุญตักบาตรที่วัด การใส่บาตรพระที่เดินบิณฑบาต หากไม่จำเพาะเจาะจงพระรูปใดรูปหนึ่ง นับเป็นสังฆทานทั้งสิ้น
มีทานอีกรูปแบบหนึ่งที่คล้ายๆ สังฆทาน เป็นทานที่มีอาณาเขตกว้างขวางกว่าคือ ทานที่ให้แก่หมู่พวกที่ไม่เฉพาะกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งเรียก สาธารณทาน เป็นทานที่ไม่จำกัดเฉพาะในรั้ววัด เป็นการให้ที่ไม่มีขอบเขต สังฆทานเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณทานเช่นนั้น
จัดสังฆทานให้ได้ประโยชน์
เดี๋ยวนี้เวลาพูดถึง สังฆทาน พวกเราจะนึกถึงถังสีเหลืองๆ ภายในบรรจุข้าวของเครื่องใช้เยอะแยะมากมาย จนล้นออกมาปากถัง แล้วมีพลาสติกใสหุ้มทับอีกที
แท้จริงแล้วของที่จะถวายหมู่พระสงฆ์โดยไม่เจาะจงที่เรียกว่า สังฆทาน นั้น คืออะไรก็ได้ที่เหมาะกับชีวิตสมณะ ไม่จำเป็นต้องเป็นถังเหลืองๆ ที่วางขายตามหน้าร้านสังฆภัณฑ์เสมอไป
ข้าวของเครื่องใช้ที่บรรจุมักเป็นของที่พระภิกษุเก็บไว้ใช้ในช่วงวันเข้าพรรษา (ประมาณ 3 เดือน) ส่วนมากก็จะเป็นของที่ใช้ดำรงชีวิตทั่วไปเหมือนเราๆ ท่านๆ นี่แหละ เช่น ผงซักฟอก, ยาสีฟัน, แปรงสีฟัน, สบู่, ยาสระผม เป็นต้น จะมีเพิ่มมาหน่อยก็จะเป็นผ้าอาบน้ำฝน สบงจีวรเครื่องนุ่งห่ม ที่พระภิกษุจะต้องมีไว้ใช้
ถ้าเราไม่รู้ว่าจะซื้ออะไรไปถวายพระสงฆ์ดี เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยเครื่องสังฆทานที่มีจำหน่ายตามร้านบรรจุให้สำเร็จรูป อีกทั้งการบรรจุกระป๋องก็ทำมาให้เรียบร้อยสวยงาม ซื้อปุ๊บก็ถือไปถวายปั๊บ เข้ากับยุคสมัยพอดี ไม่ต้องเสียเวลาไปซื้อหามาประกอบให้ลำบาก
ถึงเวลาที่ต้องมาทบทวนการทำสังฆทานกันเสียที สังฆทานที่ดีไม่จำเป็นต้องมีของถวายมากมาย ขอเพียงเป็นของที่จำเป็นและมีคุณภาพดีเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว และการเลือกซื้อของมาประกอบเป็นสังฆทานเอง จะได้ของดีมีคุณภาพกว่าการไปซื้อ ถังเหลืองๆ ตามร้านสังฆภัณฑ์ทั่วไป หากผ้าอาบน้ำฝนราคาผืนละ 60-80 บาท ราคาถังสังฆทานก็จะประมาณ 200-600 บาท แล้วแต่ของข้างในและขนาดถัง
ถังเหลืองๆ ที่มีวางขายตามร้านสังฆภัณฑ์นั้น บางร้านจะยัดหนังสือพิมพ์หรือกระดาษแข็งเข้าไว้เต็มกระป๋อง ส่วนที่เป็นสังฆทานหรือข้าวของเครื่องใช้จริงๆ จะถูกบรรจุไว้แถวขอบปากถัง เพื่อให้ดูว่ามีของใช้มากมายจนล้นปากถัง แล้วเอาพลาสติกใสหุ้มอีกทีเพื่อไม่ให้ของล้นจนหก แท้จริงแล้วมีของใช้ไม่กี่อย่างเท่านั้นเอง
ข้าวของเครื่องใช้ที่ซื้อหามาจัดเป็นสังฆทานได้
-
สบู่ จัดเป็นเครื่องประทินผิว แต่พระก็ใช้ได้เพื่อทำความสะอาดและระงับกลิ่นกาย
-
ยาสีฟัน ชนิดผงหรือแบบหลอดก็ได้ ยาสีฟันสมุนไพรก็น่าสนใจ
-
แปรงสีฟัน เลือกที่เป็นชนิดขนแปรงอ่อนๆ จะได้สบายเหงือก
-
ยาสระผม เอาไว้ใช้เวลาโกนศีรษะจะได้โกนได้ง่ายขึ้น
-
ใบมีดโกน เป็นของจำเป็นมาก เพื่อใช้โกนศีรษะ
-
ผงซักฟอก ใช้ซักจีวรเพื่อความสะอาด
-
เครื่องดื่มสมุนไพรพร้อมชง จำพวกขิงผง ชารางจืด มะตูม, นม UHT, น้ำผัก-น้ำผลไม้ 100%, เครื่องดื่มผสมธัญพืช หรือจะเป็นเครื่องดื่มรสช็อกโกแลต ไมโลหรือโอวัลตินพร้อมดื่มก็ได้ ที่สำคัญอย่าลืมดูวันหมดอายุก่อนซื้อด้วย
-
ผ้าอาบน้ำฝน เลือกที่เนื้อหนาๆ หรืออาจเลือกซื้อเป็นสบง (ผ้านุ่ง) หรือจะเป็นอังสะก็ได้ เพราะพระท่านมักจะมีผ้าอาบน้ำฝนอยู่มากแล้ว จะขาดแคลนก็คือสบงและอังสะ ถ้าถวายให้สามเณรก็จัดเหมือนพระเช่นกัน
-
ถวายสังฆทานแม่ชี ก็เปลี่ยนจากผ้าเหลืองเป็นชุดแม่ชี ซึ่งหาซื้อได้จากวัดบวรนิเวศวิหาร, สถาบันแม่ชีไทย หรือร้านสังฆภัณฑ์ทั่วไป หากหาซื้อไม่ได้ก็เปลี่ยนเป็นผ้าขาวเนื้อดีตามร้านขนาด 2-4 เมตรแทน จากนั้นแม่ชีท่านจะนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อ ผ้าถุง ผ้าครอง ตามสมควร
-
ซีดีธรรมะ หนังสือธรรมะ หนังสือเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หนังสือเกี่ยวกับสุขภาพ หรือหนังสือความรู้ต่างๆ ที่คิดว่าพระสงฆ์ควรรับรู้เพื่อนำไปบอกกล่าวแก่ญาติโยมได้
-
ยาสมุนไพรต่างๆ รวมทั้งยาแผนปัจจุบัน เช่น พาราเซตามอล ยาแก้ปวดท้อง ท้องเสีย ยาลดกรด ในกระเพาะอาหาร แอลกอฮอล์ล้างแผล เบตาดีนสำหรับใส่แผลสด ยาบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และยาทาเมื่อถูกแมลงสัตว์กัดต่อย ฯลฯ
-
เครื่องเขียน สมุด ปากกา ดินสอ รวมทั้ง ซองจดหมาย แสตมป์
-
ไฟฉาย ถ่านไฟฉาย ซึ่งวัดตามชนบทและวัดป่าสิ่งนี้ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นมาก
-
จาน ชาม ช้อน ส้อม อาจสอบถามดูว่าวัดนั้นๆ ต้องการจำนวนมากหรือไม่ จะได้จัดเป็นชุดใหญ่ถวายเป็นของสงฆ์ เพื่อให้ชาวบ้านหยิบยืมได้ด้วยในงานบุญประเพณีต่างๆ รวมทั้งเครื่องมืองานช่าง เช่น ค้อน ตะปู ไขควง หรืองานเกษตร เช่น จอบ เสียม พลั่ว และอุปกรณ์งานทำความสะอาด เช่น ไม้กวาดอ่อน ไม้กวาดแข็ง ถังขยะ ที่ตักผง ฯลฯ
-
ร่ม สำหรับให้พระท่านได้ใช้ในช่วงฤดูฝน ควรหาซื้อสีที่เหมาะสม เช่น สีดำหรือสีน้ำตาล
-
บาตร ควรหาซื้อบาตรที่มีความหนาพอสมควร เวลาที่ญาติโยมใส่ข้าวสุกร้อนๆ ลงไป มือท่านจะได้ไม่พอง ที่สำคัญไม่ควรมีน้ำหนักมาก เพราะท่านต้องใช้เดินบิณฑบาตเป็นระยะทางไกล
-
ของอื่นๆ ที่มักนิยมใส่ก็มี กระดาษชำระ ข้าวสาร หัวหอม กระเทียม น้ำมันพืช น้ำตาล เกลือ น้ำปลา ฯลฯ ที่จัดว่าเป็นของแห้งเก็บไว้ได้นาน ของเหล่านี้ถ้าพระท่านใช้ไม่ทัน ท่านก็มักจะเก็บรวบรวมนำไปบริจาคต่างจังหวัดอีกที นับเป็นวงจรบุญไม่มีที่สิ้นสุด
-
จัดเรียงข้าวของที่ซื้อมาลงในภาชนะซักผ้าที่ซื้อมาต่างหาก อาจจะเป็นถังหรือกะละมังก็ได้ แล้วนำไปถวายได้ทันที
ข้าวของบางอย่างที่ไม่ควรถวาย
-
บุหรี่ กาแฟ สิ่งเสพติด เครื่องดื่มชูกำลังทุกประเภท
-
ผลิตภัณฑ์อาหารที่บรรจุด้วยโฟม เพื่อหลีกเลี่ยงมลพิษทางสิ่งแวดล้อม
-
อาหารกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง เพราะเป็นอาหารที่มีสารกันบูด สารเคมี ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ ใส่เป็นผลไม้สดจะดีกว่า ถ้าในวัดมีครัวอาจซื้อผักสดเข้าครัวก็ได้
-
ใบชาคุณภาพต่ำ พระไม่ค่อยได้ชงฉัน ควรเปลี่ยนเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร ให้ประโยชน์กับสุขภาพมากกว่า
-
กล่องสบู่ ปกติพระท่านมีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องซื้อถวายอีก
-
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารบิณฑบาตในตอนเช้าเป็นอาหารสด และมีคุณค่ากว่า ไม่ควรส่งเสริมให้ท่านฉันอาหารที่มีคุณค่าน้อย
-
น้ำอัดลมหรือน้ำที่ผ่านการปรุงแต่งกลิ่นและสี เช่น น้ำส้ม น้ำองุ่นที่แต่งกลิ่นและสี
แสงสว่างไสวถึงชาติหน้า
เทียนและหลอดไฟ เป็นอีกอย่างหนึ่งที่เป็นของนิยมในการถวาย เพราะในสมัยก่อนพระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาในวัดต่างจังหวัดต้องใช้เทียนเพื่อเป็นแสงสว่างในวัด แต่ในปัจจุบันวัดในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดส่วนใหญ่ก็เปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้ากันแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าหากเราจะเปลี่ยนมาถวายหลอดไฟนีออนกันบ้าง ราคาเทียนที่ถวายกันก็จะประมาณ 150-1,600 บาท แล้วแต่ว่ามีสลักลายหรือไม่มี ถ้าขนาดเดียวกันก็จะต่างกันประมาณ 100 บาท
ถ้าดูจากความหมายแล้วก็ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่นัก เพราะนัยว่าจะทำให้ชีวิตของผู้ถวายรุ่งโรจน์สว่างไสวไปถึงภพหน้าชาติหน้า ยิ่งถ้าใครหนทางชีวิตมืดมิด ถือโอกาสดีช่วงเทศกาลเข้าพรรษานี้ถวายเทียนหรือหลอดไฟนีออนกันแก้เคล็ดสักหน่อย สาธุ !!! |