การบรรพชาอุปสมบทพระภิกษุสามเณรและ บวชศีลจาริณีภาคฤดูร้อน คือ การนำเด็กและเยาวชนให้เข้าวัด โดยการบวชและเรียนรู้หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาและความรู้อื่น ๆ จากพระสงฆ์ ในช่วงปิดเรียนภาคฤดูร้อนตามระยะเวลาที่กำหนด การบวชดังกล่าวแยกเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. การบรรพชาเป็นสามเณร
๒. การบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
๓. การบวชศีลจาริณีหรือบวชชีพราหมณ์ (ผู้หญิง)
วัดที่จัดกิจกรรมนี้มักจะดำเนินการในรูปแบบของโครงการมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนบ้าง โครงการอุปสมบทภาคฤดูร้อนบ้าง โครงการบวชเนกขัมมจาริณีหรือบวชศีลจาริณีบ้าง ตามกิจกรรมจัดขึ้น กรมการศาสนาใช้ชื่อเรียกรวมกันอย่างเป็นกลางว่า โครงการบรรพชาอุปสมบทพระภิกษุสามเณรและบวชศีลจาริณีภาคฤดูร้อน
การบรรพชาสามเณรเริ่มครั้งแรก เมื่อสมัยพุทธกาล โดยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานการบรรพชาแก่ราหุลกุมาร ดังนั้นจึงถือว่า พระราหุลเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา ต่อมาพระพุทธองค์ทรงประทานอนุญาตให้คณะสงฆ์ทำการบรรพชาและอุปสมบทแก่ผู้ที่ประสงค์จะบรรพชาและอุปสมบทได้ เมื่อ
พระพุทธศาสนาได้เผยแผ่ไปยังดินแดนต่าง ๆการบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุสามเณรจึงได้รับการสืบทอดไปพร้อมกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และดำเนินการสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน การจัดโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนครั้งแรกในประเทศไทย จากหลักฐานที่สืบค้นได้พบว่าจัดขึ้น ณ วัดตโปทาราม ตำบลหาดส้มแป้น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘ โดยพระปลัดเสนอ สิริปญฺโญฺ (ปัจจุบัน : พระราชรณังคมุนี เจ้าคณะจังหวัดระนอง) จัดอบรมความรู้ทางพระพุทธศาสนา โดยใช้เนื้อหาเกี่ยวกับการแสดงตนเป็นพุทธมามกะ คิหิปฏิบัติ และศาสนพิธีเป็นหลักสูตร
ในครั้งแรกมีผู้สมัครเข้าบรรพชา จำนวน ๗ รูป หลังจากนั้น พุทธสมาคมจังหวัดระนอง ได้รายงานต่อกรมการศาสนา ในสมัยนั้นกรมการศาสนาเห็นความสำคัญของโครงการดังกล่าวว่าเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง จึงได้สนับสนุนให้จัดโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนเป็นโครงการต่อเนื่องตลอดมา
การบวชศีลจาริณี ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่าเริ่มที่วัดใดเป็นแห่งแรก แต่เป็นนิยมกันโดยทั่วไปโดยเฉพาะวัดซึ่งเป็นสำนักสอนกัมมัฏฐานจะจัดให้สตรีหรืออุบาสิกาสมาทานศีลแปดและถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดตลอดระยะเวลาที่กำหนด ๓ วันบ้าง ๕ วันบ้าง ๗ วันบ้าง เป็นต้น มักจะนิยมกันในเทศกาลวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา เป็นต้น ในแต่ละแห่งใช้ชื่อเรียกไม่เหมือนกัน เช่น บวชศีลจาริณีบ้าง เนกขัมมจาริณีบ้าง หรือ ธรรมจาริณีบ้าง แต่วิธีการปฏิบัติเหมือนกัน คือ
นุ่งขาว ห่มขาว ไม่โกนผม ชาวบ้านนิยมเรียกว่า บวชชีพราหมณ์ เนื่องจากผู้ปฏิบัติจะเคร่งครัดในศีลแปด ประพฤติธรรม และสำรวมระวังในการปฏิบัติมากกว่าคนปกติโดยทั่วไป
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ กรมการศาสนา พิจารณาเห็นว่า ควรที่จะพัฒนาและขยายงานที่เกี่ยวกับการปลูกฝังคุณธรรมแก่เยาวชนและประชาชนในชาติให้กว้างขวางและแพร่หลายมากยิ่งขึ้น และเห็นว่าหลายวัดที่จัดโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนได้จัดให้เด็กผู้หญิงเข้ามาบวชศีลจาริณีและจัดอบรมเช่นเดียวกับสามเณร แต่ยังไม่แพร่หลายมากนัก เนื่องจากไม่มีความพร้อมในการดำเนินการหลาย ๆ ด้านขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการและ ภาคเอกชน จึงได้ประสานกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทุกจังหวัดให้สำรวจวัดที่มีกิจกรรมนี้ และกรมการศาสนาได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมส่วนนี้โดยการจัดสรรงบประมาณอุดหนุน ได้เปลี่ยนชื่อโครงการเป็น โครงการบรรพชาอุปสมบท พระภิกษุสามเณรและบวชศีลจาริณีภาคฤดูร้อน ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาต่อเนื่องกันทุกปี |